วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ชง - เชื่อม - ใช้ คืออะไร?

การจัดกิจกรรม ชง เชื่อม ใช้ เป็นกระบวนการย่อยที่อยู่ในขั้นสอนของการจัดกิจกรรมทางภาษา



ขั้นชง เป็นขั้นกระตุ้นให้เกิดการปะทะจริงทางประสาทสัมผัส   ทางความคิด หรือ ความรู้สึก โดยการสืบค้น  ทดลอง  ปฏิบัติ  เกิดความรู้ความเข้าใจระดับบุคคลจากข้อมูลปฐมภูมิและทุติยภูมิ  ขั้นตอนนี้ครูต้องตั้งคำถามเก่งเพื่อจะปลุกเร้าความใคร่รู้ในตัวผู้เรียน


ขั้นเชื่อม  เป็นขั้นของการแลกเปลี่ยน และ ตรวจสอบ เป็นการเชื่อมโยงสิ่งที่ตนเองรู้กับสิ่งที่คนอื่นรู้   ทั้งยังได้ร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริงที่แต่ละคนพบเพื่อการมองเห็นรอบด้านของข้อเท็จจริง   ขั้นตอนนี้ยังลดความอหังการ์ในตัวรู้   ในขณะเดียวกันโครงสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจก็จะก่อขึ้นในสมอง  ในที่สุดก็จะพบคำตอบด้วยตัวเอง   ขั้นตอนนี้ครูต้องเป็นนักอำนวยการที่จะสร้างบรรยากาศให้เกิดการแลกเปลี่ยนกันอย่างแท้จริง  ไม่ผลีผลามสรุปเสียเองเพราะการทำอย่างนั้นจะเป็นการลดทอนศักยภาพการเรียนรู้ในตัวผู้เรียน  


ขั้นใช้ ซึ่งจะเป็นกระบวนการที่จะทำให้โครงสร้างความเข้าใจในสมองคมชัดขึ้น  โดยการให้ผู้เรียนตอบสนองต่อโจทย์ใหม่ทันทีหลังจากขั้นเชื่อม  เช่น  การทำภาระงานหรือชิ้นงานใหม่  การทำการบ้าน หรือการปรับใช้ในชีวิตจริง เป็นต้น    ขั้นตอนนี้ครูต้องเป็นนักสังเกตการณ์ที่สามารถมองเห็นความก้าวหน้าหรือความขัดข้องของเด็กแต่ละคน 

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

กิจกรรมการสอนภาษา

การสอนภาษา  จะเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้โดยที่ครูจัดกระทำในสิ่งที่เอื้อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้  ผ่านกิจกรรม  ชง  เชื่อม ใช้   

ดังกรณีตัวอย่าง  ดังนี้

กรณี  การอ่านเรื่อง / วรรณกรรม
ชง  นักเรียนอ่านเรื่องโดยการอ่านออกเสียง (อ่านคนเดียว / อ่านต่อเนื่องกัน / อ่านพร้อมกัน) หรืออ่านในใจ  หรือครูอ่านให้ฟัง
          เชื่อม   ครูตั้งคำถามเพื่อให้เด็กแต่ละคนได้คิด  ได้แสดงความคิด  ได้รับฟังเพื่อรับรู้แง่มุมที่แตกต่าง  เกี่ยวกับเรื่องที่อ่าน โดยให้สอดรับกับพฤติกรรมสมอง ดังนี้
จำ: ตัวละครมีใครบ้าง?   เรียงลำดับเหตุการณ์ของเรื่อง
เข้าใจ: สรุปเรื่องหรือข้อคิดที่ได้
วิเคราะห์ / สังเคราะห์ :วิเคราะห์ / สังเคราะห์เหตุการณ์ ลักษณะนิสัยของตัวละคร  ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
นำไปใช้  : สรุปเหตุการณ์  เทียบเคียงกับชีวิตจริง
ประเมินค่า :  การกระทำของตัวละครเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร / เหตุการณ์ต่อไปจะเป็นอย่างไร
สร้างสรรค์ : แต่งเรื่องใหม่  แต่งตอนจบใหม่  วาดภาพประกอบ  ออกแบบฉาก  การ์ตูนช่อง
ใช้   ให้ผู้เรียนได้ลงมือทำแบบฝึก/ งาน / ภาระงาน ที่สอดรับกับพฤติกรรมสมอง
กรณี  เรียนรู้หลักภาษา
ชง    นักเรียนอ่านเรื่อง หรือฟังคุณครูอ่านเรื่อง  แล้วให้เด็กค้นหาคำแม่ ก กา หรือคำมาตราตัวสะกด หรือคำเป็นคำตาย หรือชนิดของคำ(นาม กริยา สรรพนาม ฯลฯ) หรือคำราชาศัพท์ หรือคำสุภาพ หรือคำประวิสรรชนีย์ ไม่ประวิสรรชนีย์ หรือคำควบกล้ำ ฯลฯ จากเรื่องที่อ่าน   ตามเป้าหมายของการสอนครั้งนั้น
            เชื่อม    นำเสนอคำที่ได้ และแลกเปลี่ยนคำที่ได้กับเพื่อนในชั้น  ซึ่งจะได้คำที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นวิเคราะห์ร่วมกัน เพื่อตรวจสอบว่าใช่หรือไม่  เพราะอะไร   แล้วช่วยกันอธิบายความหมายของคำศัพท์นั้นพร้อมยกตัวอย่าง
ใช้   เป็นการทำแบบฝึก  ชิ้นงาน ภาระงาน  เช่น  นำคำศัพท์เหล่านั้นมาแต่งประโยค / เรื่องราว/ นิทานหรือหาคำที่มีความหมายใกล้เคียงหรือตรงกันข้ามกับคำศัพท์นั้น

รูปแบบการสอนภาษาผ่านวรรณกรรม

รูปแบบการสอนภาษาผ่านวรรณกรรม
ขั้นที่ ๑ การนำเข้าสู่บทเรียน สร้างแรงบันดาลใจ
         - จัดบรรยากาศ
- เล่าเรื่องเกริ่นนำ
- ตั้งคำถามเพื่อคาดเดาเรื่อง
ขั้นที่ ๒ คุณค่าวรรณกรรม 
         - อ่าน (พร้อมกัน / ทีละคน / อ่านในใจ
- ตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่อ่าน ให้สอดรับกับพฤติกรรมสมอง
- วิเคราะห์เรื่อง เขียน เล่าเรื่อง ถ่ายทอด
- แต่งเรื่องใหม่
- เขียนแผนภาพโครงเรื่อง
- เทียบเคียงชีวิต บอกข้อคิดที่ได้

ขั้นที่ ๓ เรียนรู้หลักภาษาและการใช้หลักภาษา
         - เชื่อมโยงเนื้อหาจากวรรณกรรมสู่หลักภาษา
- ศึกษาค้นคว้า
- สร้างความเข้าใจ

         - นำเสนอ
- ทำใบงาน แบบฝึก

         - ฝึกประสบการณ์ทางภาษา
         - การประยุกต์ใช้ในชีวิต

พฤติกรรมสมองกับการเรียนรู้ภาษา

พฤติกรรมสมองกับการเรียนรู้ภาษา

การเรียนรู้ภาษาควบคู่กับการให้เด็กเกิดทักษะการคิดเป็นสิ่งจำเป็น ฉะนั้นการตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้สมองแสดงพฤติกรรมการคิดออกมาจึงเป็นสิ่งที่ควรฝึกฝนเป็นประจำ การตั้งคำถามนั้นสามารถจำแนกคำถามเพื่อให้เกิดพฤติกรรมการคิดของสมองด้านต่างๆ ได้ด้ังนี้


จำ: ตัวละครมีใครบ้าง?   เรียงลำดับเหตุการณ์ของเรื่อง
เข้าใจ: สรุปเรื่องหรือข้อคิดที่ได้
วิเคราะห์ / สังเคราะห์ :วิเคราะห์ / สังเคราะห์เหตุการณ์ ลักษณะนิสัยของตัวละคร  ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
นำไปใช้  : สรุปเหตุการณ์  เทียบเคียงกับชีวิตจริง
ประเมินค่า :  การกระทำของตัวละครเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร / เหตุการณ์ต่อไปจะเป็นอย่างไร
สร้างสรรค์ : แต่งเรื่องใหม่  แต่งตอนจบใหม่  วาดภาพประกอบ  ออกแบบฉาก  การ์ตูนช่อง




การเรียนรู้ภาษา ของโรงเรียนนอกกะลา

 
การเรียนรู้ภาษา  ของโรงเรียนนอกกะลา(โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา
 
เป็นการเรียนรู้ภาษาโดยไม่ใช้แบบเรียน  แต่ให้เรียนรู้การใช้ภาษาจริงจากการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลแวดล้อมและการเรียนรู้ผ่านวรรณกรรม


ทำไมต้องวรรณกรรม และวรรณกรรมมีอะไรบ้าง?

วรรณกรรม เป็นการจำลองชีวิตจริง มีความงดงามทั้งวิถีชีวิตและการใช้ทักษะทางภาษา อีกทั้งจรรโลงใจให้ใคร่ครวญ




วรรณกรรม ได้แก่    
นิทาน  เรื่องสั้น  วรรณคดีนิยาย  หนัง  บทละคร บทเพลง

ธรรมชาติการเรียนรู้ภาษาของมนุษย์

ธรรมชาติการเรียนรู้ภาษาของมนุษย์

เราเรียนรู้ภาษาเริ่มจาก การฟังและการพูด   เป็นการเรียนรู้ที่จะเข้าใจความหมายของเสียง และสื่อสารออกมาได้   ทั้งเสียงสื่ออารมณ์ความรู้สึก  เสียงสูง-ต่ำ น้ำเสียงราบเรียบสม่ำเสมอ  และ เสียงของคำศัพท์ที่ใช้เพื่อสื่อความหมาย
 
จากนั้นจึงเริ่มหัดอ่าน-เขียน   เป็นการเรียนรู้ที่จะใช้ภาพหรือสัญลักษณ์แทนเสียงของคำศัพท์   ทั้งสัญลักษณ์แทนเสียงที่เปล่งออกมาแล้วมีความหมาย เช่น พ่อ  แม่  มือ  ตา  หู ฯลฯ หรือ  สัญลักษณ์แทนเสียงที่ไม่มีความหมาย เช่น  ก  ข  -ะ   ไ-  ฯลฯ 
 
เมื่อจำสัญลักษณ์ที่แทนความหมายได้บ้างแล้ว  เราจะเริ่มเรียนรู้รูปแบบ หรือโครงสร้างของภาษา  โดยการเทียบเคียงเสียงด้วยรูป หรือ ด้วยการเปล่งเสียง  ซึ่งในขั้นนี้จะเกิดจากเทียบเคียงด้วยตัวเอง หรือ ครูนำการเทียบเคียง  เช่น   ขา ตา มา  หรือ  ตา ตี เตา  หรือ  _าง = กาง คาง นาง วาง  หรือ การผันเสียง เช่น ปา ป่า ป้า ป๊า ป๋า

ขั้นสูงสุดคือการแตกแขนงทางภาษา  เป็นการเห็นรูปแบบหรือการเห็นโครงสร้างภาษา  รูปคำ  ประโยค การแยกแยะคำ การสร้างคำใหม่  จนพลิกแพลงไปใช้ได้ และจะเกิดการเพิ่มพูนคำศัพท์  เห็นถึงคำที่เชื่อมโชงกันจนสามารถสร้างอภิธานศัพท์หรือกลุ่มคำที่สามารถอธิบายสิ่งต่างๆ ใช้เชิงนามธรรมหรือความหมายที่แท้จริงของสิ่งนั้นได้   ซึ่งจะเกิดขึ้นด้วย การฝึกฝน การสั่งสม  และ การสร้างอภิธานศัพท์





ทำไมต้องสอนภาษา? และเป้าหมายการสอนภาษาคืออะไร?

ทำไมต้องสอนภาษา?

ทำไมเราต้องสอนภาษาให้กับเด็กๆ ตั้งแต่อนุบาลจนถึงปริญญาตรี  ทั้งที่เด็กสี่ห้าขวบก็ใช้ภาษาสื่อสารกับเรารู้เรื่องกันแล้ว?
ภาษาในความหมายอย่างกว้าง หมายถึงกริยาอาการที่แสดงออกมาแล้วสามารถทำความเข้าใจกันได้ไม่ว่าจะเป็นระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับสัตว์ หรือสัตว์กับสัตว์ส่วนภาษาในความหมายอย่างแคบนั้น หมายถึงเสียงพูดที่มนุษย์ใช้สื่อสารกันเท่านั้น
 ภาษาเป็นวัฒนธรรมที่เกิดและวิวัฒนาการมาพร้อมกับมนุษย์  ประมาณจำนวนภาษาที่มนุษย์ใช้อยู่ทั่วโลกเวลานี้ มีถึง 6,800 ภาษาในจำนวนนี้เกินกว่าครึ่งหรืออาจจะถึงร้อยละ 90  จะตายไปในไม่ช้า    อย่างเช่น ขณะนี้มีคนพูดภาษาอูดิฮี ได้แค่ 100 คน   ส่วนภาษาอะริคาปู มีคนพูดได้น้อยยิ่งกว่าเพียง 6 คนเท่านั้น  แต่ที่น่าตกใจที่สุดเห็นจะเป็นภาษาอียัคที่มีคนพูดได้เพียงคนเดียวในโลก คือคุณยายมารี สมิธ วัย 83 ปีอาศัยอยู่ในเมืองอันโชเรจ รัฐอลาสกา เธอคือคนสุดท้ายที่พูดภาษานี้ได้
การตายของภาษาจะทำให้อารยะธรรมบางอย่างของเจ้าของภาษาตายไปด้วย
สำหรับ 10 ภาษาที่มีจำนวนผู้พูดมากที่สุดในโลกนั้นได้แก่  ภาษาจีนกลาง มีผู้พูด 885 ล้านคน  ภาษาสเปน 332 ล้านคนภาษาอังกฤษ 322 ล้านคน  ภาษาอารบิค 220 ล้านคนภาษาเบงกาลี 189 ล้านคน  ภาษาฮินดี 182 ล้านคน, ภาษาโปรตุเกส 170 ล้านคนภาษารัสเซีย 170 ล้านคนภาษาญี่ปุ่น 125 ล้านคน และภาษาเยอรมัน 98 ล้านคน
บางประเทศมีภาษาใช้จำนวนมากอย่างเช่น  ปาปัวนิวกินีมีกว่า 800 ภาษาอินโดนีเซีย 731 ภาษา  ไนจีเรีย 515 ภาษาอินเดีย 400 ภาษาและอินเดียมีภาษาราชการใช้ถึง 15 ภาษา
ภาษาจีน, กรีก และฮิบรูเป็นภาษาโบราณที่ใช้กันมามากกว่า 2,000 ปี

เป้าหมายของการเรียนรู้ภาษาจากขั้นพื้นฐานไปสู่ขั้นสูง
1.     เพื่อใช้ภาษาในการรับรู้และสื่อความต้องการ
2.     เพื่อใช้ภาษาเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ให้ความเข้าใจต่อโลกและปรากฏการณ์ต่างๆ
3.     เพื่อใช้ภาษาในการรับรู้และถ่ายทอดอารยธรรม
4.     เพื่อใช้ภาษาในการรับรู้และถ่ายทอดการเข้าถึงสิ่งสูงสุด

วันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา (โรงเรียนนอกกะลา)


โรงเรียนเอกชนเรียนฟรี
       โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ได้เปิดทำการเรียนการ สอนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2546 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2546 จำนวน 3 ชั้นเรียน ได้แก่ ชั้นอนุบาล 1 ชั้นอนุบาล 2 และชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ได้คัดเลือกเด็กจากเด็กทั่วไปโดยวิธีจับฉลาก นักเรียนที่เข้าเรียนไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน ข้อพิจารณาที่สำคัญคือ ผู้ปกครองต้องพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับโรงเรียนฯ ในการพัฒนาผู้เรียนอย่างเต็มศักยภาพ
       ปัจจุบันมูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา เป็นผู้ถือใบอนุญาตโรงเรียนฯ และเปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาโดยมูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา เป็นโรงเรียนเอกชนที่ไม่เก็บค่าเล่าเรียน มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นโรงเรียนตัวอย่าง เริ่มดำเนินการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ปีการศึกษา 2546 ถึงปัจจุบัน ในระดับชั้นอนุบาลและประถมศึกษา มีนักเรียนทั้งหมด  270  คน  รับนักเรียนโดยการจับฉลาก โรงเรียนฯ ตั้งอยู่ในพื้นที่ชนบท  ตำบลโคกกลาง  อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยของประชากรต่ำที่สุดในภาคตะวันออก เฉียงเหนือ นโยบายภาครัฐพรบ.การศึกษาแห่งชาติ และ หลักสูตรแกนกลาง ต่างก็มีเจตนารมณ์ที่จะให้มีการจัดการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ จากการดำเนินการตามเจตนารมณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้จบการศึกษาในระดับที่สูง ขึ้น(ผู้จบมัธยมศึกษา ถึง 95 %) แต่ในด้านคุณภาพของผู้เรียนยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรโดยเฉพาะในชนบท ส่วนหนึ่งนั้นมาจากครูยังมีกรอบความคิดที่เน้นการสอนความรู้แทนที่จะให้ ความสำคัญของการสอนทักษะกระบวนการเรียนรู้  การจัดการความรู้และ ทักษะการคิด ดังนั้นการเป็นโรงเรียนตัวอย่างอย่างเป็นรูปธรรมทั้งในด้านการพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การพัฒนาครู การทำงานกับผู้ปกครองและชุมชน การจัดการทรัพยากร และ การบริหารจัดการ  ให้กับครูและผู้ที่มีหน้าที่จัดการศึกษาจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการ พัฒนาการศึกษาของประเทศไทย