วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2558

Lesson Study กระบวนการพัฒนาครู1

"การสร้างการเรียนรู้ที่ดีครูต้องรับผิดชอบในการวางแผนการจัดกิจกรรม และการสร้างการเรียนรู้ที่ดีนั้นครูต้องรับผิดชอบร่วมกัน"


หนึ่งในกระบวนการที่ช่วยในการพัฒนาครุผู้สอนให้มีความรู้ความเข้าใจ  สามารถจัดการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนบรรลุตามเป้าหมายนั้น  ที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาจะพัฒนาครูผู้สอนทั้งกระบวนการของ PLC : Professional Learning Community และกระบวนการ Lesson Study

ตัวอย่างการทำ Lesson Study ในกลุ่มสาระวิชาภาษาไทย


Lesson Study ภาษาไทย เรื่องคำลักษณะนาม ของพี่ๆ ชั้น ป.6 โดยครูฟ้า


ก่อนการจัดกิจกรรมในวันนี้ครูผู้สอนภาษาไทยได้ร่วมกันวางแผนในการออกแบบกิจกรรมร่วมกัน (BAR : Before Action Review)


หลังจากนั้นครูผู้สอนจะนำกิจกรรมที่ร่วมกันออกแบบนั้นไปใช้ในชั้นเรียนของตนเอง (ขั้นกิจกรรมการเรียนรู้)

ขั้นชง : ครูมีบัตรคำจากนิทานชาดก จากพระไตรปิฎกตอน ฝูงนกทะเลาะกัน มาให้นักเรียนช่วยกันอ่านออกเสียงและอธิบายความหมายของคำนั้นๆ



ขั้นเชื่อม : นักเรียนนำคำที่ได้มาจัดกลุ่มคำที่เกี่ยวข้องกัน  สัมพันธ์กัน แล้วร่วมวิเคราะห์ สังเคราะห์อภิปรายเกี่ยวกับกลุ่มคำนั้นๆ แล้วตั้งคำถามชวนคิดเชื่อมโยงสู่คำและลักษณะนามของคำนั้นๆ








ขั้นใช้ : นำคำจากการจัดกลุ่มคำนามและคำลักษณะนามมาใช้ในการเขียนเรื่องสร้างสรรค์ตามจินตนาการ (จะได้ชิ้นงานที่นำไปสู่การวัดและการประเมินผล)




และเมื่อจัดกิจกรรมการเรียนรู้วันนี้เสร็จ  ทีมครูจะช่วยกัน AAR (After Action Review) เพื่อการพัฒนาต่อไป




วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2558

ชิ้นงาน สื่อสารความเข้าใจ

กระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจ คือ การได้ลงมือทำ  ได้ปะทะข้อมูล เพื่อตกผลึกความเข้าใจด้วยตนเอง  ซึ่งบทบาทของครูนั้นจะเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เรียนอยากเรียนรู้  อยากทำ ด้วยการตั้งคำถามกระตุ้นคิด ท้าทาย เหมาะสมกับวัย  อีกทั้งผู้เรียนได้ใช้ศักยภาพในการเรียนรู้อย่างเต็มที่

ทุกชั่วโมงของการเรียนรู้ภาษาไทย นักเรียนจะได้ทำชิ้นงานเพื่อสื่อสารความเข้าใจทั้งที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรมหรือหลักภาษาตามเป้าหมายของการเรียนรู้เสมอ

ตัวอย่างชิ้นงาน















ที่นี่ไม่มีการสอบ เพราะประเมินผู้เรียนตามสภาพจริง  ชิ้นงานคือการประเมินอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด

วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2558

การเชื่อมวรรณกรรมสู่หลักภาษา

"เชื่อมวรรณกรรมกับหลักภาษา"

ชั่วโมงที่ 3 ของการเรียนรู้ภาษาไทย ในสัปดาห์นี้
_ครู(ชง) กระตุ้นด้วยสื่อบัตรคำหรือข้อความจากวรรณกรรมที่อ่าน แล้วตั้งคำถามกระตุ้นคิดที่สอดรับกับหลักภาษาที่เป็นเป้าหมายของการเรียนรู้ในสัปดาห์
_ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ Active Learning โดยได้ร่วมคิด ได้ลงมือปฏิบัติ ได้แสดงความคิดเห็นร่วมกัน (เชื่อม)
_ได้ทำชิ้นงานหรือภาระงาน (ใช้) เพื่อสื่อสารความเข้าใจ

การเชื่อมวรรณกรรมสู่พฤติกรรมสมองผ่านชิ้นงาน

"การพูดและการเขียนคือการสื่อสารความเข้าใจ ฝึกฝนการใช้ภาษา ครูควรกระตุ้นให้เด็กกล้าที่จะใช้ภาษาไม่ใช่กลัว"
การเรียนภาษาผ่านวรรณกรรม
เมื่ออ่านเรื่องเสร็จ
_ครูตั้งคำถามกระตุ้นการคิดที่เชื่อมโยงสู่พฤติกรรมสมอง
_ผู้เรียนได้พูดแสดงความคิดในการตอบคำถามอย่างมีเหตุผล
_ผู้เรียนได้สื่อสารความเข้าใจผ่านการทำชิ้นงาน(การเขียน) และการนำเสนอ
เพียงครูใช้คำพูดเชิงบวก ชื่นชม ให้กำลังใจ ไม่คอยจับผิดแต่สร้างความเข้าใจให้กับผู้เรียน เด็กก็กล้าที่จะใช้ภาษาในการสื่อสาร
ขอบคุณผลงานบางส่วนจากพี่ๆ ป.2 และ ป.3 ในชั่วโมงที่ 2 ของการเรียนรู้ภาษาไทย










วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2558

การอ่านวรรณกรรม

"การอ่านออกเขียนได้เป็นสิ่งที่จำเป็นพื้นฐาน
แต่เราต้องพาผู้เรียนไปให้สูงกว่านั้น"

_การอธิบายความหมายใต้บรรทัด การตีความในสิ่งที่อ่านเพื่อเข้าใจในสิ่งที่เรื่องกำลังสื่อสาร
_ความซาบซึ้ง เข้าถึงแก่นและเชื่อมโยงสู่การปรับประยุกต์ใช้

ทุกครั้งที่อ่านวรรณกรรม ครูต้องตั้งคำถามที่จะเชื่อมโยงสู่พฤติกรรมสมอง (จำ_เข้าใจ_นำไปใช้_วิเคราะห์_สังเคราะห์_ประเมินค่า_สร้างสรรค์) เพื่อฝึกการคิดและการใคร่ครวญ น้อมสู่การเกิดความเข้าใจ

ภาษาไทยผ่านวรรณกรรม ณ โรงเรียนนอกกะลา (ที่นี่ไม่มีแบบเรียน)

ภาพ : พี่ๆ ป.2 อ่านวรรณกรรม"นิทานลูกสัตว์" เรื่อง ลูกแมวและลูกกระรอก และพี่ๆ ป.3 กำลังอ่านวรรณกรรม "นิทานนานาชาติ" เรื่อง คนเบื่อตนเอง







วันพุธที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ภาษาผ่านเพลง...."นิทาน"

อีกหนึ่งกิจกรรม  ที่จัดกระบวนการเรียนรู้ทางภาษาผ่านบทเพลงแล้วเชื่อมโยงสู่หลักภาษา

กิจกรรม  : ภาษาผ่านบทเพลง..."นิทาน"

เป้าหมาย : เข้าใจความหมายของเพลง  เกิดความซาบซึ้งสามารถตีความหมายของเนื้อหา  แสดงความคิดเห็นและเชื่อมโยงสู่หลักภาษาได้

หลักภาษา : สำนวนสุภาษิต

สื่อ : เพลง "นิทาน"

การดำเนินกิจกรรม :
๑. อ่าน....เนื่อเพลง (ครูให้เนื้อเพลง)

มีหนึ่งเรื่องราว ตำนานเล่าขาน
เวลาช้านาน ได้โปรดฟัง
กระต่ายตัวน้อย เฝ้ามองดวงจันทร์
ที่เดิมทุกวัน ไม่ห่างไกล

สวยงาม โอ้จันทรา ดวงดารา ส่องลงมา
ช่างเฉิดฉาย ฝันไป จะวันนึง จะวันใด
จะไขว่และคว้ามา

มันก็เลยต้องปีน ปีนให้สูงขึ้นไป
ไม่ว่าสูงเท่าใด (ลาลาลา ลาลาลาลา)
มันก็เลยต้องปีน ปีนให้สูงขึ้นไป
จะยากเย็นเท่าไร (ลาลาลา ลาลาลาลา)

จะต้องเจ็บกี่ครั้ง ตกลงมากี่หน
สิ่งเดียวคือต้องอดทน
ลำบากลำบน เพื่อใฝ่และฝัน
จะต้องเจ็บกี่ครั้ง และต้องเจ็บกี่ครั้ง

สิ่งเดียวที่รู้ คือในตอนนี้ จะกี่วิธี จะขึ้นไป
กระต่ายตัวน้อย ไม่คอยความฝัน
เมื่อสิ่งที่หวัง ช่างห่างไกล

สวยงาม โอ้จันทรา ดวงดารา ส่องลงมา
ช่างเฉิดฉาย ฝันไป จะวันนึง จะวันใด
จะไขว่และคว้ามา

มันก็เลยต้องปีน ปีนให้สูงขึ้นไป
ไม่ว่าสูงเท่าใด (ลาลาลา ล้าลาลาลา)
มันก็เลยต้องปีน ปีนให้สูงขึ้นไป
จะยากเย็นเท่าไร (ลาลาลา ล้าลาลาลา)

จะต้องเจ็บกี่ครั้ง ตกลงมากี่หน
สิ่งเดียวที่ต้องอดทน
ลำบากลำบน เพื่อใฝ่และฝัน
จะต้องเจ็บกี่ครั้ง และต้องเจ็บกี่ครั้ง

โอ้อันว่าของสูงแม้หมายปองต้องใจ
จะทำยังไรจะคว้ามา
โอ้อันว่าของสูงแม้หมายปองต้องใจ
จะทำยังไรจะคว้ามา
โอ้อันว่าของสูงแม้หมายปองต้องใจ
จะทำยังไรจะคว้ามา

มันก็เลยต้องปีน ปีนให้สูงขึ้นไป
ไม่ว่าสูงเท่าใด (ลาลาลา ล้าลาลาลา)
มันก็เลยต้องปีน ปีนให้สูงขึ้นไป
จะยากเย็นเท่าไร (ลาลาลา ล้าลาลาลา)

จะต้องเจ็บกี่ครั้ง ตกลงมากี่หน
สิ่งเดียวคือต้องอดทน
ลำบากลำบน เพื่อใฝ่และฝัน
และในตอนสุดท้าย ถ้าคลาดเคลื่อนสิ่งนั้น

แต่ฉันก็จะยอม

๒. ครูตั้งคำถามชวนคิด
     - อ่านแล้วรู้สึกอย่างไร /มีคำไหน ประโยคใดที่อยากรู้หรือสงสัย
     - คิดเห็นอย่างไรกับเนื้อหาของเพลงนี้
๓. นักเรียนฟังเพลง ..http://youtu.be/7lZrt8UZZn0...
๔. ครูตั้งคำถามชวนคิด ต่อ
     - ฟังแล้วได้ความรู้หรือข้อคิดอะไรบ้าง /นึกถึงสำนวนสุภาษิตใด เพราะอะไร
๕. วาดภาพสื่อความหมายของเพลงและสำนวนสุภาษิตที่เกี่ยวข้อง
๖. ครูตั้งคำถามชวนคิด ต่อ
     - นอกจากนี้มีสำนวนสุภาษิตอะไรบ้างที่เรารู้จัก  และสำนวนสุภาษิตเหล่านั้นมีความหมายอย่างไร
๘. นักเรียนสรุปความเข้าใจเกี่ยวกับสำนวนสุภาษิต (ความหมาย  ประเภท การนำไปใช้  ประโยชน์  พร้อมยกตัวอย่าง)


วันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ก้าวแรกกับการเรียนภาษาผ่านวรรณกรรม

ก่อนเข้าสู่การเรียนรู้เนื้อหาสาระ  ครูผู้สอนจะสร้างแรงเพื่อให้เกิดฉันทะ (ความอยาก) ในการเรียนรู้ โดยการเล่นสนุกกับการเรียนผ่านกิจกรรม "คาดเดาเรื่องราว เร้าแรงอยากเรียนรู้ สิ่งที่คิดอยู่คืออะไร"

ซึ่งครูจะนำชื่อเรื่องหรือภาพปกมาให้ผู้เรียนดู แล้วกระตุ้นด้วยคำถาม " เห็นอะไรบ้าง  รู้สึกอย่างไร  แล้วคิดว่าเรื่องราวน่าจะเป็นอย่างไร"  หลังจากนั้นจึงให้ผู้เรียนเขียนเรื่องราวตามจินตนาการแล้วนำมานำเสนอแลกเปลี่ยนร่วมกัน

ตัวอย่างกิจกรรมการเรียนรู้ของห้องเรียน ป.6 สอนโดยครูสังข์ (นายนิคม  ศาลาทอง)